เม่าไข่ปลา

ประเภท : ไม้ยืนต้น และไม้ต้นขนาดเล็ก


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Antidesma ghaesembilla Gaertn.


ชื่อสามัญ : มะเม่า ขะเม่าผา มะเม่าผา เม่าไข่ปลา มะเม่าข้าวเบา เม่าทุ่ง มะเม่าไข่ปลา


ชื่อวงค์ : EUPHORBIACEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก แตกกิ่งก้านต่ำเป็นพุ่ม สูงประมาณ 2-6 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อนแตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาล ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับในระนาบเดียวกัน ใบเป็นรูปรีค่อนข้างกลม หรือรูปรีแกมขอบขนาน หรือรูปไข่กว้างถึงรี ปลายใบมนกลมหรือเป็นติ่งแหลมเล็กน้อย โคนใบมนกลมถึงหยักเว้า ขอบใบเรียบ ใบกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4-10 เซนติเมตร หลังใบและท้องใบเรียบเกลี้ยง มีขนตามเส้นใบด้านท้องใบ ก้านใบยาวประมาณ 0.2-1.2 เซนติเมตร หูใบเป็นรูปลิ่มแคบ ร่วงง่าย ดอกออกเป็นช่อเชิงลด ออกตามซอกใบและปลายยอด ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ดอกแยกเพศอยู่ต่างต้นกัน ดอกย่อยมีขนาดเล็กจำนวนมาก มีสีเขียวอมเหลือง ผลออกเป็นช่อ ช่อผลยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร ผลย่อยมีขนาดเล็ก ค่อนข้างกลมรีหรือแบนเล็กน้อย ผลมีขนาดประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร ผิวมีขน ผลอ่อนเป็นสีขาว เมื่อแก่จะเป็นสีแดงเข้มเกือบดำ ภายในผลมี 1-2 เมล็ด ติดผลช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม


ประโยชน์

ต้นราก แก้โลหิตจาง ซีดเหลือง เลือดไหลเวียนไม่ดี เป็นยาแก้กระษัย บำรุงกำลัง แก้ปวดศีรษะ แก้ไข้ คอแห้ง กระหายน้ำ แก้ท้องอืด เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ แก้มดลูกพิการ บำรุงไต แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ผลสุกแก้คอแห้ง แก้กระหายน้ำ