เพกา
ประเภท : ไม้ยืนต้น และไม้ต้นขนาดเล็ก
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Oroxylum indicum
ชื่อสามัญ : มะลิดไม้
ชื่อวงค์ : BIGNONIACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เป็นไม้ขนาดเล็กถึงกลาง ลำต้นมีขนาดเล็ก และเรียวยาว ขนาดลำต้นประมาณ 10-20 เซนติเมตร มีความสูงประมาณ 5-15 เมตร ลำต้นไม่แตกกิ่ง แต่จะแตกกิ่งเมื่อปลายยอดถูกตัด หรือ หลังการออกดอกครั้งแรกแล้ว โดยมีใบแตกออกเฉพาะบริเวณปลายยอด ทำให้แลดูไม่เป็นทรงพุ่ม มีรูปทรงต้นเป็นทรงกลม เปลือกลำต้นขรุขระเล็ก และแตกเป็นสะเก็ด สีเปลือกลำต้นมีสีครีม และบางลำต้นมีฝ้าขาวของราปกคลุม ส่วนเนื้อไม้เป็นไม้เนื้ออ่อน สีขาวขุ่น โดยส่วนปลายยอดมีรอยแผลเป็นบากจากการหลุดร่วงของก้านใบ ทั้งลำต้น และกิ่งเปราะหักง่าย ใบเพกา /ลิ้นฟ้า เป็นใบประกอบ 2 ชั้น ที่ชั้นแรกเป็นก้านใบหลักที่แตกออกตรงข้ามกันเป็นคู่บนลำต้นบริเวณปลายยอด ซึ่งมีความยาวได้ถึง 1.5 เมตร ส่วนชั้นที่ 2 เป็นก้านใบย่อยที่แตกออกเป็นคู่ๆตรงข้ามกันบนก้านใบหลัก 3-5 คู่ และมีก้านใบย่อยอีก 1 ก้านเดี่ยวที่ปลายก้านหลัก รวมแล้วประมาณ 7-11 ก้าน แต่ละก้านใบย่อยประกอบด้วยใบย่อยเรียงกันเป็นคู่ๆตรงข้ามกัน 3-5 คู่ ใบย่อยแต่ละใบมีลักษณะเป็นรูปหัวใจยาว ความกว้างประมาณ 4-8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 8-12 เซนติเมตร โคนใบมน และเว้าเข้าตรงกลาง ส่วนปลายใบแหลม แผ่นใบด้านบนมีสีเขียวเข้ม แผ่นใบด้านล่างมีสีเขียวอ่อน แผ่นใบ และขอบใบเรียบ มีเส้นกลางใบ และเส้นใบย่อยมองเห็นชัดเจน ออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายยอด ความยาวก้านช่อประมาณ 0.8-1.5 เมตร โดยมีดอกเรียงซ้อนกัน 20-30 ดอก ที่ปลายก้านช่อดอก โดยแต่ละดอกจะก้านดอกยาว 5-15 เซนติเมตร ดอกตูมเพกามีลักษณะเป็นหลอดของกลีบเลี้ยง และกลีบดอกสีเขียวที่หุ้มไว้ ต่อมาเมื่อแก่ ปลายกลีบดอกจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีม่วง และพองตัวใหญ่ขึ้น และ เมื่อดอกบาน กลีบดอกด้านนอกจะเปลี่ยนม่วงเข้ม ส่วนด้านในเป็นสีครีม ทั้งนี้ กลีบดอกจะเชื่อมติดกันเป็นรูปแตร ปลายกลีบไม่แยกเป็นแฉก แต่ย่นเป็นลูกคลื่น และโค้งพับลงด้านล่าง ส่วนด้านในประกอบด้วยก้านเกสรตัวผู้เรียงกัน 5 อัน ปลายก้านเกสรเป็นหลอดห้อยติดที่มีละอองเกสรจำนวนมาก ส่วนก้านเกสรตัวเมียจะมี 1 อัน ผลเพกา/ลิ้นฟ้า เรียกเป็น ฝัก ที่มีลักษณะแบนยาว คล้ายดาบจีนโบราณ กว้างประมาณ 5-8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 45-120 เซนติเมตร โคนฝักสอบแคบ ปลายฝักแหลม เปลือกฝักหนา ฝักอ่อนมีสีเขียวสด นิยมรับประทาน ให้เนื้อแน่นกรอบ มีรสขม ฝักเริ่มแก่มีสีเขียวอมดำ ไม่นิยมรับประทาน เพราะแข็ง และเหนียว ฝักแก่เต็มที่ และแห้งจะมีสีดำ และปริแตกออกเป็น 2 ซีก ส่วนด้านในจะมีเมล็ดจำนวนมากเรียงซ้อนอัดแน่นอยู่ เมล็ดเพกา มีลักษณะแบน เปลือกเมล็ดมีสีดำหรือน้ำตาลอมดำ ซึ่งจะถูกหุ้มด้วยเยื่อสีขาวอมเหลืองเป็นแผ่นบางๆล้อมรอบ เยื่อนี้ทำหน้าที่ช่วยให้เมล็ดปลิวตามแรงลมให้ตกห่างจากต้นได้ไกลขึ้น ทั้งนี้ ช่อดอกเพกา 1 ช่อ จะติดฝักประมาณ 1-20 ฝัก
ประโยชน์
ฝักอ่อน อายุฝักประมาณ 1 เดือน จัดเป็นผักพื้นบ้านที่นิยมนำมารับประทานด้วยการลวกหรือย่างไฟ คู่กับน้ำพริก เมนูลาบต่างๆ และซุปหน่อไม้ ฝักอ่อนนี้ เมื่อรับประทานจะมีรสขม เนื้อฝักกรอบ ใบ และยอดอ่อน ชาวบ้านนิยมนำมารับประทานดิบหรือลวกหรือย่างไฟ คู่กับน้ำพริก ซุปหน่อไม้