เติม

ประเภท : ไม้ยืนต้น และไม้ต้นขนาดเล็ก


ชื่อวิทยาศาสตร์ : ฺิBischofia javensis Blume


ชื่อสามัญ : เติม ประดู่ส้ม กระดังงาดง ขมฝาด ประดู่น้ำ


ชื่อวงค์ : EUPHORBIACEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นเติม หรือ ต้นประดู่ส้ม มีเขตการกระจายพันธุ์จากอินเดียไปจนถึงประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก โดยมักพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบ หรือริมลำห้วยที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-1,000 เมตร ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาค โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 10-30 เมตร และอาจสูงได้ถึง 35 เมตร ลักษณะของต้นเป็นทรงเรือนยอดค่อนข้างทึบ กิ่งมักคดงอ ลำต้นมีเนื้อไม้สีน้ำตาลอมสีเหลือง มีกลิ่นหอม เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือเป็นสีน้ำตาลอมแดง และจะเป็นสีน้ำตาลเข้มเมื่อมีอายุมากขึ้น ส่วนเปลือกชั้นในเป็นสีน้ำตาลอมแดง และมียางสีแดง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง ใบเติม ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ มีใบย่อย 3 ใบเรียงสลับกัน ก้านใบรวมยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ส่วนก้านใบย่อยข้างยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ก้านใบปลายยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่หรือรูปรีแกมไข่ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบหยักโค้งแกมฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-11 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร เนื้อใบหนาเกลี้ยง ด้านหลังใบเป็นสีเขียวเข้ม ใบเมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีแดงสด ดอกเติม ออกดอกเป็นช่อ แยกแขนงออกตามซอกใบ ช่อดอกห้อยลง มีความยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร แต่ละช่อดอกมีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก เป็นสีเหลืองอ่อนอมเขียว ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน (บ้างว่าอยู่กันคนละต้น) โดยดอกเพศผู้จะมีกาบลักษณะเป็นรูปหอก มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ไม่มีกลีบดอก ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 5 ก้าน มีเกสรเพศเมียที่เป็นหมันเป็นแผ่นกว้าง ก้านเกสรสั้น และไม่มีหมอนรองดอก ส่วนดอกเพศเมียมีข้อ ด้านบนหนา กลีบเลี้ยงมีลักษณะโค้งเข้าตรงกลาง ก้านเกสรเพศเมียสั้นปลายแยกเป็นแฉก 3 แฉกโค้งกลับ เมื่อดอกบานจะบานพร้อมกันทั้งต้นดูสวยงามมาก และดอกจะร่วงโรยทั้งต้นในวันรุ่งขึ้น โดยจะออกดอกในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนธันวาคม ผลเติม ออกผลเป็นช่อ ๆ ผลเป็นผลสด ฉ่ำน้ำ ลักษณะของผลค่อนข้างกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของผลประมาณ 7-10 มิลลิเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียวเข้ม เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือสีเหลืองหรือเป็นสีส้มแกมสีน้ำตาล ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 3-4 เมล็ด และมีเนื้อหุ้มอยู่ โดยผลจะแก่จัดในช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม


ประโยชน์

เนื้อไม้มีรสฝาดขม ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงโลหิต แก้โลหิตกำเดา รากและเปลือกใช้เป็นยาฟอกโลหิต ลำต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้เจ็บคอ แก้เสียงแหบแห้ง เนื้อไม้ใช้สร้างบ้าน ยอดอ่อนใช้ปรุงอาหารรสเปรี้ยว